ประวัติ ของ พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต)

พระสุนทรราชวงศาฯ หรือ เจ้าฝ่ายบุต เป็นพระโอรสของเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก องค์ที่ 3 สมภพที่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ในปี พ.ศ. 2334 เกิดเหตุกบฏอ้ายเชียงแก้วที่อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ทางฝ่ายนครจำปาศักดิ์ไม่สามารถรับมือได้ เนื่องจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น ถึงแก่พิราลัยกะทันหันหลังจากได้รับทราบข่าวศึก (ก่อนหน้านั้นพระเจ้าองค์หลวงฯ เองก็ประชวรเรื้อรังมานานแล้ว) เจ้าฝ่ายหน้า ได้นำเจ้าคำสิงห์ และเจ้าฝ่ายบุต พระโอรสทั้งสองไปร่วมมือกับพระประทุมราชวงศา (เจ้าคำผง) เจ้าผู้ครองเมืองอุบล ผู้เป็นพระเชษฐา ยกทัพไปปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วจนราบคาบ และเจ้าฝ่ายหน้าได้จับตัวอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตที่แก่งตะนะ (อยู่ในแม่น้ำมูล ระหว่างอำเภอพิบูลมังสาหารกับอำเภอสิรินธรในปัจจุบัน) ก่อนหน้าที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึงตามรับสั่งจากกรุงเทพฯ ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"[1] เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 แลพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชก็ยังให้เจ้าฝ่ายบุต ผู้เป็นพระราชโอรสลงไปรับราชการสนองที่นครจำปาศักดิ์อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2369 พระยาราชสุภาวดีจึงกราบบังคมทูลความดีความชอบของเจ้าฝ่ายบุตในคราวปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าฝ่ายบุตเป็นพระสุนทรราชวงศา มหาขัตติยชาติ ประเทศราชวงศ์เวียง ดำรงรักษ์ภักดียศฦๅไกร ศรีพิไชยสงคราม[2] เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร องค์ที่ 3 (พ.ศ. 2366-2400) พร้อมพระราชทานพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ หรือ พระแก้วหยดน้ำค้าง อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองยโสธรในปัจจุบัน , พระราชทานเชลยศึกจากนครเวียงจันทน์ จำนวน 500 ครอบครัว และพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมืองยศสุนทร 1 กระบอก อันมีชื่อว่า "ปืนนางป้อง" ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ที่ศาลหลักเมืองยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเจ้าฝ่ายบุตได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองเมืองแล้ว ได้ให้ไพร่พลนำหินศิลาจากบ้านแก้งหินโงม มาสร้างพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานที่มณฑปวัดป่าอัมพวัน สร้างวัดขึ้นที่ท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำชี เรียกว่า วัดท่าแขก (หรือวัดศรีธรรมารามในปัจจุบัน) และสร้างวัดขึ้นที่กลางเมือง เรียกว่า วัดกลางศรีไตรภูมิ ไว้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสืบมา

ในปี พ.ศ. 2378 เมื่อพระบรมราชา (มัง) เจ้าผู้ครองเมืองนครพนมได้หลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ แล้วพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) จึงได้มอบให้พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายุบต) เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร มาว่าราชการเมืองนครพนมอีกตำแหน่งหนึ่ง

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2381 พระสุนทรราชวงศาฯ เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราช ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระบรมราช (มัง) อดีตเจ้าผู้ครองเมืองนครพนมพร้อมด้วยกรมการเมืองบางคน และบุตรหลานที่อพยพหลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองมหาชัยก่องแก้วทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กลับมาอยู่ที่เมืองนครพนมตามเดิม รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริว่าพระบรมราชา (มัง) เจ้าผู้ครองเมืองนครพนมก็ชราภาพ และป่วยเป็นคนพิการจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสุนทรราชวงศาฯ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครพนมและเจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทรทั้งสองเมือง พระราชทานนามบรรดาศักดิ์และเครื่องยศให้สูงขึ้นกว่าเดิม คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระโถนทองคำหนึ่ง โต๊ะเงิน คาวหวาน กระบี่บั้งทองหนึ่ง ปืนคาบศิลาคอลาย 2 กระบอก เสื้อกำมะหยี่ติดขลิบแถบทองตัวหนึ่ง หมวกตุ้มปี่ยอดทองคำประดับพลอยหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วตัวหนึ่ง เสื้อญี่ปุ่นลายเขียนตัวหนึ่ง แพรโล่ผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง และสัปทนสักหลาดคันหนึ่ง เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์ [3] นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ในเมืองนครพนม ดังนี้ ท้าวจันโท น้องพระบรมราชา (มัง) เป็นอุปราช ท้าวอรรคราช บุตรพระบรมราชา (มัง) เป็นราชวงศ์ ท้าวอินทวงศ์ เมืองยศสุนทร เป็นราชบุตร

ในระหว่างที่ พระสุนทรราชวงศาฯ ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองนครพนมอยู่ถึง 22 ปี ได้มีเหตุการณ์และตั้งเมืองขึ้นใหม่โดยยกกองทัพออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้าย แม่น้ำโขง (ดินแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน) คือจากเมืองวัง เมืองพิณ เมืองนอง เมืองเซโปน เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองคำอ้อคำเขียว เมืองแสก เมืองเชียงฮ่ม เมืองผาบัง ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ คือ ผู้ไท ข่า กะโซ่ กะเลิง แสก ย้อ โย้ย ให้มาตั้งขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ ในท้องที่เมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร และเมืองกาฬสินธุ์เกิดขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร [4] เมืองอาทมาต ต่อมาถูกยุบลงเป็นตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม เมืองรามราช[5] ต่อมาถูกยุบลงเป็นตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน เมืองอากาศอำนวย[6] เมืองท่าอุเทน[7] เมืองไชยบุรี[8][9]